งานประเพณีชนสามเผ่าชาวศรีธาตุ

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

วัดเก่าสิมโบราณและตำนานองวัดป่าแมว ศรีธาตุเป็นอีกอำเภอหนึ่งที่มีความเก่าแก่ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอย่างยาวนาน สิมเก่าวัดโบราณที่วัดป่าแมว คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้เราได้รับรู้ ท่านใดสายโบราณคดี วัดนี้ควรมาสัมผัสสักครั้งนะครับ อยากให้มาชมด้วยตาจริงๆ

#เรื่องเล่าวัดป่าแมว เมื่อครั้งสมัยทวาราวดีซึ่งเป็นยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ชาวขอมเมืองเป็งจางนครราช (ปัจจุบันเป็นจังหวัดนครราชสีมา) ได้มุ่งหน้าจะไปภูกำพร้าเพื่อจะไปร่วมสร้างพระธาตุพนม โดยหวังจะน้ำเอาทรัพย์สมบัติที่นำมานั้นไปบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุพนม แต่พอเดินทางมาถึงหนองขี้หูด (ปัจจุบันเรียกว่า บึง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือตรงข้ามกันวัดป่าแมวในปัจจุบัน) ได้ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จและได้ปิดช่องบรรจุวัตถุหมดทุกช่องแล้ว ชาวเมืองเป็งจางนครราชจึงได้หยุดพักที่ริมฝั่งหนองขี้หูดทางทิศเหนือและได้ตกลงกันสร้างพระธาตุขึ้นทางฝั่งทิศเหนือของหนองขี้หูด เพื่อบรรจุสมบัติและวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่นำมา วัสดุที่ใช้ก่อสร้างในยุคนั้นคือ ใช้ดินเผาเป็นอิฐวางต่อเรียงรายกันขึ้นโดยใช้ยางไม้เป็นตัวเชื่อมอิฐให้ยึดติดกัน เมื่อสร้างเสร็จแล้วปรากฏว่าองค์พระธาตุที่สร้างได้นั้นเล็กเกินที่จะบรรจุสมบัติที่นำมาได้หมดเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุน้อย” (สถานที่ตั้งของพระธาตุน้อยนี้ต่อมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านจำปี) ปัจจุบันจึงเรียกว่า "โนนโรงเรียน" ในช่วงหนึ่งของประวัติการสร้างวัด พระธาตุน้อยได้หักพังลงมาจึงได้มีการขุดค้น โดยพระอาจารย์ตึ๊ (อ่อนตา) ได้ค้นพบพระพุทธรูปทองคำและทองสัมฤทธิ์มากมาย พระพุทธรูปที่ขุดพบองค์ใหญ่ที่สุดเป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักขนาดหน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 43 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดป่าแมว และชาวเมืองเป็งจานนครราช จึงได้ตกลงกันสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นให้ใหญ่กว่าองค์แรก โดยยึดทางทิศใต้ของหนองขี้หูดที่เป็นเกาะมีน้ำรอบ (ที่ตั้งวัดปัจจุบัน) ใช้อิฐและยางไม้เป็นวัสดุเช่นกัน คนเฒ่าคนแก่ที่เล่าต่อ ๆ กันว่า ในองค์พระธาตุปืนบรรจุไว้ 1 กระบอก ในวันดีคืนดีจะโผล่ปากกระบอกออกมาภายนอกให้เห็นอยู่เนือง ๆ เมื่อมีการขุดคันในภายหลังพบ ปืนสั้น โปกปูน (ที่ตำหมาก) และแมวทองคำ ของสามสิ่งนี้ทำด้วยทองคำล้วน เมื่อสร้างพระธาตุเสร็จทั้งสององค์แล้ว ชาวเป็งจานก็แบ่งออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งกลับไปบ้านเมืองเดิม อีกกลุ่มหนึ่งสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่ที่ทิศเหนือของหนองขี้หูดชื่อบ้านธาตุน้อยและชาวบ้านธาตุน้อยนี้ได้สร้างวัดและสิมมา (เสมา) ขึ้นแต่ไม่ปรากฎชื่อวัดอีกทั้งยังสร้างสะพานไม้ขึ้นเพื่อข้ามไปมาระหว่างบ้านวัดด้วย (ในต้นยุคของอาจารย์ตึ๊ยังเห็นซากไม้และเสาสะพานปรากฎอยู่) ต่อมาบ้านธาตุน้อยถูกภัยน้ำท่วมหลายครั้งจึงพากันอพยบไปอยู่ที่อื่น ปล่อยให้วัดและหมู่บ้านร้าง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 ราษฎรจากบ้านพันลำได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานและหักร้างถางพงได้พบเนินดินร้างซึ่งมีพระธาตุ และมีเสมาหินสลักเป็นรูปดอกบัว ปักเรียงรายอยู่โดยรอบ บนใบเสมายังมีอักษรโบราณจารึกไว้ 2 แถว ( สูญหาย ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 มีพระภิกษุจากบ้านท่าคันโทได้ธุดงค์มาพบวัดร้างนี้จึงได้อยู่จำพรรษา ภายหลังชาวบ้านจึงช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างวัดขึ้นใหม่ ได้สร้างพระอุโบสถหลังแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2464
จากหลักฐานที่ได้ค้นพบในหนังสือประวัติศาสตร์โบราณคดีอีสาน ได้กล่าวไว้ว่า วัดศรีธาตุประมัญชา เป็นแหล่งเสมาหินที่ได้ค้นพบเป็นแห่งแรก โดยอาจารย์มานิต วัลลิโภคม ได้ไปสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2502 อยู่ในบริเวณบ้านจำปี ตำบลบ้านท่าไฮ กิ่งอำเภอศรีธาตุ แต่ได้มีผู้เคลื่อนย้ายนำเสมาเหล่านั้นมาเก็บไว้เสีย ในเขตวัดศรีธาตุประมัญชา จึงไม่อาจทราบลักษณะการปักเสมาเหล่านั้นได้
ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมศิลปกรและศาสตราจารย์ Wilhelm G. Solheim ได้เดินทางมาสำรวจอีกครั้งหนึ่ง ได้มีการนำไปจารึกไปศึกษาตัวอักษร ณ ประเทศฝรั่งเศส และ ได้ทำรายงานการสำรวจบริเวณและนำเอาคำแปลศิลาจารึกมาพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2507 ได้ความว่าหลักหินนี้ “พราหมณ์” ได้ทำพิธีตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักกำหนดเขตของของพระภิกษุสงฆ์ศักราชที่มีอยู่ในจารึกประมาณได้ราว พ.ศ. 1154-1214 หรือไม่ก็ 1276 (Ibid, 181) การพบศิลาจารึกหลักนี้นับว่ามีประโยชน์มากเพราะเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันกับเสมาหินที่พบในบริเวณเดียวกัน ในเรื่องของอายุอย่างไม่ต้องสงสัย ในเขตบ้านท่าไฮ ศาสตราจารย์ Solheim และคณะพบเสมาหินปักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบบริเวณหนึ่งซึ่งกว้าง 8 เมตร ยาว 25 เมตร เสมาที่พบมีสองแบบ แบบแรกเป็นแท่งหินรูปสี่เหลี่ยม กว้างราวด้านละ 40 เซนติเมตร และสูงราว 70-100 เซนติเมตร มีทั้งหมด 6 หลัก บางหลักมีรูปบัวสลักรอบฐา

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562

ศรีธาตุพยานรัก  วรรณกรรมพื้นบ้านอำเภอศรีธาตุ

  นานมาแล้ว ยังมีนางแมวป่าตัวหนึ่งถือศีลและอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ได้เสาะหาผลไม้ในป่านำมาถวายท้าวเวสสุวัณ (เป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์โลกของชาวพุทธโบราณ เป็นเทพเจ้าแห่งยักษ์ภูตผีปีศาจและความมั่งคั่งไพบูลย์ เป็นเทวดาประจำทิศอุดร) อยู่เป็นประจำด้วยความศรัทธาและเคารพ ท้าวเวสสุวัณได้เล็งเห็นคุณงามความดีของนางแมวป่าที่ประกอบแต่กรรมดี พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อนางมาก จึงได้พระราชทานพรให้นางหลุดพ้นจากร่างเดิมซึ่งเป็นแมว ให้กลับเป็นร่างมนุษย์เป็นหญิงสาวที่กอปรไปด้วยความงามทั้งกาย วา และจิตใจ ยากที่จะหาสาวใดในโลกนี้ที่จะมาเปรียบเทียบกับความงามของนางได้ พร้อมกับพระราชทานนามให้นางใหม่ว่า “ศรี” หมายถึงสิริมงคล ความรุ่งเรืองความงาม ความเจริญ และอวยพรให้นางจงปฏิบัติแต่คุณงามความดีอย่างเสมอต้นเสมอปลายชีวิตในวันข้างหน้าจะเจริญรุ่งเรืองสืบไป
ในชุมชนบ้านเดื่อยังมีชายหนุ่มรูปงามนามว่า “จำปี” เป็นกำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่เยาว์วัย แม้จะอยู่ในสภาพยากจนและตกระกำลำบากเพียงใด จำปีก็ไม่เคยท้อแท้ในชีวิตมุ่งมั่นประกอบแต่คุณงามความดีตลอดมา วันหนึ่งวิญญาณของพ่อแม่ของจำปีได้มาเข้าฝัน เพื่อบอกลาไปเกิดใหม่ในสรวงสวรรค์และบอกให้ลูกไปขุดใต้โคนมะเดื่อใหญ่ที่อยู่ในสวนหลังบ้านจะพบ “เรือทองคำกายสิทธิ์” ขนาดเล็กมากซุกซ่อนอยู่ในใต้โคนต้นมะเดื่อ เรือทองคำกายสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของคู่บุญบารมีของผู้มีบุญเท่านั้น เรือลำนี้สามารถขยายให้เป็นเรือลำใหญ่หรือให้เล็กลงได้ตามคำอธิษฐานของผู้เป็นเจ้าของ  และสามารถเหาะเหินบนท้องฟ้าได้อีกด้วยเมื่อตื่นขึ้นจึงได้ไปขุดตามที่ฝันก็พบเรือทองคำดังกล่าวตามความฝันทุกอย่าง ทำให้จำปีดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงนำเรือทองคำดังกล่าวเก็บไว้ในย่ามอย่างมิดชิด
คงเป็นบุบเพสันนิวาสของจำปีและศรีที่เคยทำบุญร่วมกันมาแต่ปางก่อน จึงดลบันดาลให้หนุ่มสาวทั้งสองได้พบกันวันหนึ่งจำปีได้ออกไปหาฟืนและเก็บผลไม่ไว้เป็นอาหารก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องขอความช่วยเหลือ จึงเข้าไปดูเห็นเสือโคร่งกำลังวิ่งไล่ศรีอยู่ จึงเข้าช่วยเหลือและต่อสู้กับเสือโคร่งจนสิ้นใจตาย ส่วนจำปีก็บาดเจ็บจากการต่อสู้จนแทบเอาชีวิตไม่รอดเหมือนกัน ศรีรู้สึกสำนึกในบุญคุณที่จำปีได้ช่วยเหลือชีวิตนางให้รอดตายในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงช่วยจัดหายามาเพื่อทำการรักษาบาดแผลให้กับจำปี ในเวลาต่อมาคนทั้งสองก็สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก และตัดสินใจใช้ชีวิตคู่สามีภรรยากันอย่างมีความสุข
กล่าวถึงท้าวอุตตะราช ผู้ครองเมืองอุตตะ ได้เสด็จออกประพาสป่าผ่านมาทางป่ามะเดื่อได้พบจำปี และศรีเกิดความพอใจและหลงไหลในรูปโฉมของศรีภรรยาจำปีเป็นอย่างยิ่ง จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ศรีมาเป็นภรรยาของตัวเอง จนเกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงนางศรีขึ้น จำปีต่อสู้กับกำลังทหารของท้าวอุตตะราชไม่ได้ จึงบอกให้ภรรยาขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์หนีไปก่อนและตัวเองก็ถูกจับไปเพื่อเป็นเหยื่อล่อให้นางศรีมาช่วยสามีต่อไป นางศรีได้ไปขอความช่วยเหลือจากท้าวเวสสุวัณแต่ก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ท้าวเวสสุวัณจึงได้แต่ปลอบใจนางว่า มันเป็นกรรมเก่าของคนทั้งสองที่ยังไม่หมดสิ้น ทุกอย่างย่อมดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม ไม่มีใครสามารถหลีกเลี้ยงได้จึงขอให้นางเอาธรรมะเข้าช่วยและอดทนแล้วทุกอย่างจะคลี่คลายไปเอง
นางศรีจึงได้ลาท้าวเวสสุวัณขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์เพื่อกลับมาช่วยเหลือสามี โดยเสนอเงื่อนไขว่าให้ปล่อยสามีของนาง แล้วนางจะยอมทำตามความต้องการของท้าวอุตตะราชทุกอย่าง จำปีเห็นว่าภรรยาจะเสียท่าท้าวอุตตะราช เพราะไม่มีประโยชน์ที่นางศรีจะมาช่วยเหลือเขา เนื่องจากเขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกทรมานอย่างแสนสาหัส และจำปีรู้ตัวดีว่าคงไม่รอดแน่ จึงตัดสินใจเอาศีรษะพุ่ง      เข้าชนกำแพงอย่างแรงจนสิ้นใจตาย ทำให้นางศรีเสียใจอย่างมาก จึงค่อย ๆ ร่อนเรือทองคำกายสิทธิ์ลงมาหาศพของสามีอย่างเหม่อลอย แล้วเสนอเงื่อนไขให้ท้าวอุตตะราชว่า ก่อนที่นางจะตกลงปลงใจกับท้าวอุตตะราชนั้นขอให้จัดการพิธีศพสามีของนางให้เรียบร้อยก่อน โดยขอให้สร้างธาตุขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของสามีนางก่อนเพื่อความสบายใจของนาง และเป็นการขอขมาต่อสามีที่ตายไป ท้าวอุตตะราชยอมทำตามที่นางขอ จึงได้ระดมช่างฝีมือดีเป็นจำนวนมากกาก่อธาตุเป็นการใหญ่จนแล้วเสร็จนางศรี จึงแกล้งทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับท้าวอุตตะราช คือยอมแต่งงานด้วย และได้ชวนให้ท้าวอุตตะราช ขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์ พอได้โอกาสจึงผลักท้าวอุตตะราชให้ตกลงมาจนถึงแก่ความตาย ท่ามกลางความตกตะลึงของเหล่าเสนาอำมาตย์และชาวเมืองอุตตะราช นางศรีจึงนำเรือเหาะทองคำกายสิทธิ์ลงสู่พื้นดินหน้าธาตุ ที่เก็บอัฐิของสามี อธิษฐานต่อท้าวเวสสุวัณและเทพยดาอินทร์พรหมตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่บนพื้นพิภพ ขอยึดมั่นในรักเดียวใจเดียวและขอตายตามสามีเพื่อให้ความรักของนางเป็นอมตะตราบนานเท่านาน พออธิษฐานเสร็จนางก็กลั้นใจตายตามสามีแล้วร่างของนางก็กลายเป็นแมวทองคำเคียงข้างกับเรือทองคำกายสิทธิ์อยู่ที่พระธาตุประมัญชาตั้งแต่นั้นมา ผู้รวบรวมสันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดี และมีใจซื้อสัตย์ต่อผู้เป็นภรรยา ชาวบ้านจึงได้นำชื่อของจำปี  มาตั้งเป็นชื่อตำบล “จำปี” ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอศรีธาตุ และเพื่อแสดงถึงความรักที่เป็นอมตะของ “ศรี” จึงได้นำมารวมกับคำว่า “ธาตุ” ที่เก็บอัฐิของจำปี ผู้เป็นสามีตั้งเป็นชื่ออำเภอว่า “ศรีธาตุ” มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันองค์พระธาตุประมัญชาอยู่ที่วัดศรีธาตุประมัญชา (ป่าแมว) บ้านหนองแวง  ตำบลจำปี  อำเภอศรีธาตุ  ห่างจากอำเภอศรีธาตุ  ๖  กิโลเมตร  เป็นศิลปะแบบล้านช้าง และกรมศิลากรได้บูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๓๙  ตามแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น